“ AGE ” ลุยโลจิสติกส์ขนส่งทางน้ำ-ทางบก-ท่าเรือ-คลังสินค้า

>>

Hightlight

  • บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE ใส่เกียร์รุกธุรกิจโลจิสติกส์ ทางน้ำ – ทางบก-ท่าเรือ -คลังสินค้า
  • พร้อมสั่งต่อเรือลำเลียงเพิ่ม 16 ลำ หนุนขนาดกองเรือขยับเป็น 40 ลำในปี 2563
  • และขยายท่าเรือเพิ่ม ภายหลังได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จาก EXIM BANKจำนวน 342.40 ล้านบาทช่วงที่ผ่านมา       

 

 

นายพนม ควรสถาพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE ผู้นำเข้าและจำหน่ายถ่านหินบิทูมินัส (ถ่านหินสะอาด) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนการขยายการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ ด้านขนส่งทางน้ำและทางบก รวมทั้งการให้บริการท่าเรือและคลังสินค้ามากขึ้น เนื่องจากมองว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีมาร์จิ้นที่ดี ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมบริษัทฯ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ ให้มีศักยภาพความแข็งแกร่งทางการเงิน แบบมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์ ในปี 2562 ที่ 10% หรือประมาณ 800-1,000 ล้านบาท ของรายได้รวมทั้งปี 9,000 ล้านบาท

 

ในขณะเดียวกัน บริษัทได้รับการสนับสนุนทางการเงิน จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK มูลค่า 342.40 ล้านบาท เพื่อใช้ในการต่อเรือลำลียง จำนวน 16 ลำ หรือสามารถมีขนาดระวางบรรทุก รวม 41,600 ตัน สำหรับขนส่งถ่านหินของบริษัทฯ และให้บริการขนส่งทางน้ำแก่ลูกค้าภายนอก ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการสั่งต่อเรือ และคาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ทั้งหมดในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนกองเรือลำเลียงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 40 ลำ จากปี 2562 ที่มีเรือลำเลียง จำนวน 24 ลำ

 

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะขยายท่าเรือ รองรับการขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 3 ท่า จากปัจจุบันมีการให้บริการอยู่ จำนวน 2 ท่า โดยท่าเรือที่ 3 อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายไตร 4/2562 เพื่อรองรับการให้บริการเรือลากจูง ที่เพิ่มขึ้นตามแผนการส่งมอบเรือในช่วงปี 2563 อีกด้วย

 

สาเหตุที่ บริษัทฯ หันมาลงทุนในส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ ขนส่งทางน้ำและทางบก รวมทั้งการให้บริการท่าเรือ และคลังสินค้าเพิ่มขึ้น มองว่าเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจในรูปแบบของการให้บริการแบบครบวงจรมากขึ้น บนพื้นที่ 300 กว่าไร่ ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีทั้งลานเก็บกองถ่านหิน ท่าเรือ ซึ่งสามารถรองรับการขยายการลงทุนได้อีกจำนวนมาก โดยในปัจจุบันประเทศไทย มีความต้องการใช้เรือลำเลียงเพื่อขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ปุ๋ย นอกเหนือจากถ่านหิน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีการนำเข้าผ่านการขนส่งทางแม่น้ำประมาณ 30 ล้านตัน ” นายพนมกล่าว

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจถ่านหินในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ การแข่งขัน แต่บริษัทก็ยังคงรักษาระดับมาตรฐาน รวมถึงยังคงเน้นเจาะตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และกัมพูชา โดยล่าสุดบริษัทมียอดออเดอร์ถ่านหินที่รอการส่งมอบให้กับลูกค้าอีกกว่า ล้านตัน

 

อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการขยายธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในปีนี้ที่ 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากจากการจำหน่ายถ่านหินต่างประเทศ 20% ในประเทศจะอยู่ที่ 70% จากเป้ายอดขายถ่านหินทั้งปีที่ระดับ 4 ล้านตัน และรายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์ ขนส่งทางน้ำและทางบก รวมทั้งการให้บริการท่าเรือ และคลังสินค้า ประมาณ 10%